ตาลโตหนด

ลูกตาลโตนดสทิงพระ .. หอมสดชื่นโกอินเตอร์

สาวสวยจากสทิงพระมักถูกแซวว่าต้องเคยได้รับตำแหน่งธิดาลูกโหนดมาก่อนอย่างแน่นอน


ต้นตาลโตนดเป็นพืชอันเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมของพราหมณ์ จากอินเดีย เมื่อมาอยู่บบคาบสมุทรสทิงพระ เป็นต้นไม้ ที่เลี้ยงดูปากท้องชาวบ้าน และส่งลูกหลานเรียนต่อสูง ๆ

อำเภอสทิงพระ มีต้นตาลโตนดหรือ "โหนด" หนาแน่นแห่งหนึ่งของประเทศไทย ผลสำรวจพบว่ามากกว่าล้านต้น ปลูกมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ส่วนใหญ่ตามคันนา เมื่อวัวควายจะกินลูกโหนดที่สุกร่วงลงมาจากต้นแล้วคายเมล็ดออกมา เมล็ดโหนดกจะงอกออกมากลายเป็นโหนดรุ่นใหม่ๆ เพิ่ม แต่หากจะให้ต้นโหนดเรียงเป็นแถวเป็นแนวก็จะนำโหนดที่เพิ่งงอกย้ายมาปลูกบนคันนา หรือนำมาปลูกเป็นแนวแสดงอาณาเขตที่ดิน

อำเภอสทิงพระ จัดงานวันลูกโหนด ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดจัดขึ้นเป็นปีที่ 33 ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน-กรกฏาคม ช่วงที่น้ำตาลและลูกตาลโตนดจะมีผลผลิตมาก ภายในงานจะมีการออกร้าน การประกวด และจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด รวมถึงการประกวดธิดาลูกโหนด

ทุกส่วนของต้นตาลมีประโยชน์ สำหรับ ลูกตาลอ่อน กินจาวตาลสดและทำอาหารหลายอย่าง หัวอ่อนนำไปแกงคั่ว จาวตาลแก่ เอาไปเชื่อม

โหนดจะให้น้ำตาลและออกลูกมากในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-กรกฎาคม หลังจากนั้นน้ำตาลจะเริ่มลดลง ส่วนลูกจะมีตลอดทั้งปี แต่หลังเดือนกรกฏาคมลูกจะน้อยลง แต่ก็ขายได้ราคาดี

ต้นหนึ่งจะมีประมาณ 10-15 ทะลาย ทะลายหนึ่งจะมีประมาณ 12-15 ลูก แต่ละลูกเมื่อผ่าออกมาจะมีเนื้อใน 3 ลอน ขายผลสดถุงหนึ่ง 12-15 ลอนประมาณ 20 บาท เมื่อสะสมอาหารเต็มที่ในช่วงฤดูฝนแล้ว โหนดก็พร้อมที่จะให้น้ำตาลและออกลูกมาให้เก็บกินอีก

การแปรรูปลูกโหนดเริ่มเมื่อปี 2560 โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ ส่งเสริมการแปรรูปโหนดแล้วหลายอย่าง เช่น ลูกตาลลอยแก้ว ทำขนม ทำพายไส้ลูกตาล รวมทั้งเอามาทำสบู่ แชมพู เครื่องสำอาง เราจึงคิดทำน้ำลูกตาลสด และวุ้นลูกตาลออกมาขาย

ปัจจุบันกลุ่มผลิตน้ำตาลสดและวุ้นลูกตาลสด ใส่ขวดและถ้วยพลาสติกขนาด 150 ซีซี มีจุดเด่นคือ น้ำลูกตาลสดจะใช้เนื้อลูกตาลสดและน้ำจากเนื้อลูกตาล นำมาปั่นหยาบๆ ผสมน้ำเปล่าแล้วนำมาต้มให้เดือด ใส่น้ำตาลทรายเล็กน้อย เมื่อน้ำลูกตาลหายร้อนจึงนำมาบรรจุขวด แช่ให้เย็น นำมาดื่มจะรู้สึกสดชื่น มีกลิ่นหอมจากน้ำและเนื้อลูกตาล มีรสหวานเล็กน้อย รวมทั้งเนื้อลูกตาลปั่นจะให้ความรู้สึกเหมือนดื่มรังนก

เฉพาะขายลูกโหนดอย่างเดียว 1 ปีจะมีรายได้ต้นละประมาณ 4,000 บาท อำเภอสทิงพระมีต้นโหนดประมาณ 1 ล้านต้น จะมีรายได้ประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท ไม่รวมน้ำผึ้งโหนด เป็นพืชเศรษฐกิจที่สภาองค์กรชุมชนตำบลกระดังงาจะสนับสนุนให้ชาวบ้านนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าต่อไป

ผลิตภัณฑ์ลูกตาลเฉาะของชาวบ้านในพื้นที่ อ.สทิงพระ ขณะนี้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ทั้งส่งออกไปขายในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และจำหน่ายในพื้นที่

อากาศร้อนผู้คนจึงนิยมบริโภคลูกตาลเฉาะเพื่อช่วยคลายร้อน แถมรสชาติยังอร่อย หวานฉ่ำอีกด้วย นำมาเฉาะบรรจุใส่ถุงส่งขาย ทั้งขายให้กับพ่อค้าที่รับส่งต่อไปขายมาเลเซียและสิงคโปร์ ขายส่งให้กับโรงงานแปรรูปลูกตาลสด รวมทั้งขายปลีกในพื้นที่ ในราคาถุงละ 15-20 บาท มีแนวโน้มราคาลูกตาลปรับตัวสูงขึ้นอย่างเนื่องเมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม เพราะเป็นช่วงปลายฤดูตาลโตนด

อากาศร้อนและแห้งแล้ง แต่จะส่งผลดีเรื่องของราคา สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำในช่วงหน้าแล้ง